วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ประวัติ ความเป็นมา


วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ประวัติ ความเป็นมา
วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” หรือพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน” ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น “วันปิยมหาราช”
ในวันปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯ ไปวางพวงมาลา ณ พระบรมรูปทรงม้าซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นประจำทุกปี
วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ประวัติ ความเป็นมา

ประวัติ ความเป็นมา วันปิยมหาราช

เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวง ของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของหวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุข แก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง
เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม ส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า
ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง ๔๐ ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น
วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ประวัติ ความเป็นมา

ราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม : เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติ

ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์ 
วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ประวัติ ความเป็นมา

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี)เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ

สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์

บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๑

ระหว่างที่ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม ยิ่งกว่านั้นในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครอง ที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทย ให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒

เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖ และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาด ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่นคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้ 
วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ประวัติ ความเป็นมา

พระราชานุสาวรีย์

รัชสมัยของพระองค์ เป็นรัชสมัยแห่งการปฏิวัติแทบจะทุกทาง เหตุนี้ประชาชนจึงพร้อมใจกันเรี่ยไรเงินสร้างอนุสาวรีย์อย่างใดอย่างหนึ่งไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระองค์ บังเอิญประจวบเหมาะกับพระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2450 ทรงพอพระทัยพระบรมรูปหล่อของพระเจ้าหลุยส์จึงขอให้พระองค์ไปประทับนั่งให้ชาวฝรั่งเศสปั้น แล้วหล่อส่งเข้ามาในประเทศ โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปนี้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451
พระบรมรูปทรงม้านี้ ขนาดทั้งพระบรมรูปและม้า ทรงทำโตกว่าของจริงเล็กน้อย โดยหล่อด้วยโลหะชนิดทองบรอนซ์ พระบรมรูปประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนอันเป็นแท่นรองสูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงษวรุตมพงษบริพัต วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จดำรงราชสมบัติมาถึง 42 ปีเต็มบริบูรณ์ เป็นรัชสมัยที่ยืนนานยิ่งกว่าสมเด็จพระมหาราชาธิราชแห่งสยามประเทศในอดีตกาล
พระองค์กอร์ปด้วยพระราชกฤษฎาภินิหาร เป็นอัจฉริยภูมิบาลบรมบพิตร เสด็จสถิตในสัจธรรมอันมั่นคงมิหวั่นไหว ทรงอธิษฐานพระราชหฤทัยในทางที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้สถิตสถาพรและให้เกิดความสามัคคีสโมสร เจริญสุขสำราญทั่วไปในเอนกนิกร ประชาชาติเป็นเบื้องหน้า พระราชจรรยาทรงพระสุขุมปรีชาสามารถสอดส่องวินิจฉัย ในคุณโทษแห่งประเพณีเมือง ทรงปลดเปลื้องโทษ นำประโยชน์มาบัญญัติ โดยปฏิบัติพระองค์ทรงนำหน้า ชักจูงประชาชน ให้ดำเนินตามในทางที่งามดีมีประโยชน์เป็นแก่นสาร
พระองค์ทรงทำให้ความสุขสำราญแห่งประชาราษฎร์สำเร็จได้ ด้วยอาศัยดำเนินอยู่เนืองนิจในพระวิริยะและพระขันติคุณอันแรงกล้า ทรงอาจหาญในพระราชจรรยา มิได้ย่อท้อต่อความลำบากยากเข็ญ มิได้เห็นข้อขัดข้องอันเป็นข้อควรขยาด แม้ประโยชน์และความสุขในส่วนพระองค์ ก็อาจจะสละแลกความสุขสำราญพระราชทานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ โดยทรงพระกรุณาปรานี พระองค์คือบุรพการีของราษฎร เพราะเหตุเหล่านี้แผ่นดินของพระองค์จึงยิ่งด้วยความสถาพรรุ่งเรืองงาม มหาชนชาวสยามถึงความสุขเกษมล่วงล้ำอดีตสมัยที่ได้ปรากฏมา พระองค์จึงเป็นปิยมหาราช ที่รักของมหาชนทั่วไป
ครั้นบรรลุอภิลักขิตสมัย รัชมังคลาภิเษก สัมพัจฉรกาล พระราชวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ราชบริพาร พร้อมด้วยสมณพราหมณ์ อาณาประชาชนชาวสยามประเทศทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ทั่วรัชสีมาอาณาเขต มาคำนึงถึงพระเดชพระคุณอันได้พรรณนามาแล้วนั้น จึงพร้อมกันสร้างพระบรมรูปนี้ ประดิษฐานไว้สนองพระเดชพระคุณเพื่อประกาศเพื่อเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปิยมหาราช ให้ปรากฏสืบไปชั่วกาลปวสาน
เมื่อสุรยคติกาล พฤศจิกายนมาศ เอกาทศดิถีพุฒวาร จันทรคติกาล กฤติกมาศ กาฬปักษ์ ตติยดิถี ในปีวอก สัมฤทธิมา 41 จุลศักราช 1270 (ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 พระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี นับเป็นรัชสมัยที่ยืนนานที่สุดในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น